ปัจจัยช่วยให้กล้วยไม้งาม:อาหาร
อาหารในที่นี้หมายถึง ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อต้นไม้ที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างความเจริญเติบโต สร้างดอก ผล ฯลฯ ธาตุที่นับว่าเป็นอาหารของต้นไม้เท่าที่ทราบแล้ว มีอยู่ 16 ธาตุ โดยแบ่งออกตามปริมาณที่ต้นไม้ต้องการมากน้อยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ธาตุที่ต้องการในปริมาณมากที่สุด มี 3 ธาตุ ได้แก่คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และอ็อกซิเจน (O) ส่วนต่าง ๆ ของพืช ประกอบด้วยธาตุทั้ง 3 มากกว่า 80 เปอร์เซนต์ แต่ก็เป็นธาตุที่พืชหาได้ง่าย คือได้จากไอน้ำและน้ำ (H₂O) และจากคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO₂) ซึ่งเป็นส่วนผสมของอากาศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีน้ำมีอากาศ พืชย่อมมีโอกาสได้รับธาตุทั้ง 3 นี้อย่างเหลือเฟือ จึงไม่ต้องคำนึงถึงการขาดแคลน ธาตุทั้ง 3 ดังกล่าวมานี้ พืชนำไปสังเคราะห์ให้เป็นสารประกอบต่าง ๆ ในต้นพืช เช่น แป้งและน้ำตาล ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องของแสงสว่าง
กลุ่มที่ 2 ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 2 มีอยู่ 3 ธาตุคือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K) พืชโดยทั่วๆ ไปได้ธาตุเหล่านี้จากดิน และในดินส่วนมากมักจะขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช การให้อาหาร หรือให้ปุ๋ยกับต้นไม้ จึงมักคำนึงถึง เอ็น.พี.เค.(NPK) นี้เป็นข้อใหญ่
กลุ่มที่ 3 ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย มีอยู่ 3 ธาตุ คือ ธาตุปูนหรือแคลเซียม (Ca) มักเนเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) 3 ธาตุนี้ มักไม่มีปัญหาอะไรกับพืชทั่ว ๆ ไป เพราะในดินส่วนมากมีอยู่อย่างพอเพียงแล้ว
กลุ่มที่ 4 ธาตุที่พืชต้องการน้อยที่สุดมีอยู่ 7 ธาตุ คือ เหล็ก (Fe) มังกานิส (Mn) ทองแดง (Cu) โมลิบดินัม (Mo) โบรอน (B) คลอรีน (Cl) และสังกะสี (Zn) พืชโดยทั่ว ๆ ไปไม่มีปัญหาเช่นเดียวกับธาตุในกลุ่มที่ 3
สำหรับกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ เช่น แวนดา ระบบรากกึ่งอากาศ เช่นหวาย คัทลียากล้วยไม้ 2 พวกนี้รากไม่ได้หยั่งลงไปในดิน จึงต้องถือว่าการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เหล่านี้ จะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนธาตุอาหารทุก ๆ ธาตุยกเว้น 3 ธาตุในกลุ่มที่ 1 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้การให้อาหารหรือให้ปุ๋ยแก่กล้วยไม้ จึงต้องมีธาตุอาหารต่าง ๆ ใน 3 กลุ่มหลังอยู่ครบ และธาตุเหล่านั้นควรอยู่ในสภาพที่กล้วยไม้จะนำเอาไปใช้ได้โดยเร็ว เนื่องจากกล้วยไม้ไม่มีดินช่วยเกาะยึดปุ๋ยเอาไว้ เพื่อให้ค่อย ๆ ทะยอยละลายน้ำออกมาเป็นอาหารของกล้วยไม้ทีละน้อย ๆ ประการหนึ่ง และเนื่องจากเรารดน้ำทุกวันปุ๋ยที่ให้วันนี้ พอวันรุ่งขึ้นรดน้ำ น้ำก็จะละลายปุ๋ยที่ฉาบตามรากใบออกไปเกือบหมด
อนึ่งธาตุต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้มิใช่ว่ากล้วยไม้หรือต้นไม้อื่นก็ตาม จะดูดซึมเข้าไปในลักษณะเป็นธาตุแท้ ๆ เช่นดูดเหล็ก ดูดสังกะสี ดูดกำมะถันเข้าไปเลย แต่พืชจะกินธาตุเหล่านี้ได้เฉพาะในรุปของสารประกอบทางเคมีบางรูปเท่านั้น เช่น กินคาร์บอนหรือธาตุถ่านในรูปของคาร์บอนไดอ็อกไซด์ กินไนโตรเจนในรูปของเกลือแอมโมเนีย เกลือไนเตรท และยูเรีย เป็นต้น
ธาตุแต่ละธาตุต่างก็มีความสำคัญต่อกล้วยไม้เหมือน ๆ กัน ถ้าขาดแคลนแม้เพียงธาตุใดธาตุหนึ่ง กล้วยไม้อาจชะงักการเจริญเติบโต หรือแสดงอาการผิดปรกติ ตัวอย่างเช่น ถ้าขาดมักเนเซียม ใบกล้วยไม้จะเหลืองซีด ทั้งนี้เพราะมักเนเซียมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสีเขียวในพืช เมื่อขาดสีเขียว กล้วยไม้ก็นำธาตุในกลุ่มที่ 1 มาใช้สังเคราะห์อาหารไม่ได้ แม้จะมีธาตุกลุ่มนี้อย่างเหลือเฟือ คล้ายกับคนขาดธาตุเหล็กทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เพราะเหล็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโลหิต เมื่อโลหิตจางอาหารที่รับประทานเข้าไปย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายได้น้อยกว่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ธาตุบางธาตุที่มีปริมาณมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อกล้วยไม้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ถ้ากล้วยไม้ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้อวบสมบูรณ์เกินควร จนขาดความแข็งแกร่ง ยอดอ่อน รากอ่อนเปราะหักง่าย เน่าง่าย ออกดอกช้าเป็นต้น ถ้าจะเปรียบกับคน ก็พอเปรียบได้กับการที่รับประทาน แป้ง น้ำตาล และไขมันเข้าไปมากเกินควร จะทำให้มีไขมันสะสมในร่างกายมากทำให้อ้วนเกินพอเหมาะ (แป้งและน้ำตาลนั้นร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไขมันได้) นอกจากนี้ไขมันจากสัตว์และพืชบางชนิดที่มีสารประกอบคลอเรสเตอรอลสูง ยังหดอายุขัยของคนด้วย โรคนี้มักเป็นกับผู้ที่กินดีเกินความจำเป็น จึงมักเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า โรคเรสเตอรอง หรือโรคภัตตาคาร ฉะนั้นการให้อาหารกับกล้วยไม้ หากขาดความเข้าใจโปรดระวัง กล้วยไม้จะเป็นโรค ภัตตาคารไปด้วย อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะมากเกินไปนั้น น่าจะเป็นห่วงน้อยกว่า การขาดแคลน การขาดแคลนอาจเกิดจากเราใส่ปุ๋ยให้น้อยเกินไป หรือใส่ปุ๋ยให้มากแต่ปุ๋ยอยู่ในสภาพไม่เหมาะสม หรือสภาพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปุ๋ยไม่เหมาะสมก็ได้ เพื่อมิให้เรื่องนี้ยืดยาวนักจะขอกล่าวถึงเฉพาะธาตุ เอ็น พี เค เท่านั้นว่า หากมากน้อยเกินไปจะเป็นอย่างไร
ธาตุไนโตรเจน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของโปรตีนและของคลอโรฟิลล์(สีเขียวในพืช) ถ้าขาดใบจะเหลืองซีด แคระแกรนออกดอกช้า (เพราะโตช้า) แต่ถ้ามีธาตุนี้มากเกินไปก็จะอวบสมบูรณ์เร็วจนขาดความแข็งแรงดังได้กล่าวมาแล้ว และก็กลับออกดอกช้าอีกเช่นกันเพราะมัวไปเพลินเจริญทางต้นทางใบเสียหมดจนลืมออกดอก
ธาตุฟอสฟอรัส ช่วยให้ออกดอกผลตามกำหนด แต่ถ้ามากเกินไปก็ไปเร่งให้ออกดอกเร็วขึ้น แต่ถ้าออกดอกเร็วเกินไปโดยที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่สมบูรณ์พอก็ทำให้ดอกขาดความสมบูรณ์ ต้นแคระแกรน นอกจากนี้ฟอสฟอรัสยังช่วยสร้างระบบรากให้แข็งแรง ช่วยให้มีรากจำนวนมากขึ้น เมื่อรากมากก็ดูดน้ำดูแร่ธาตุได้มากเป็นเงาตามตัว และฟอสฟอรัสยังช่วยทำให้ฝักและเมล็ดสมบูรณ์
ธาตุโปแตสเซียม เป็นธาตุที่ยังไม่ทราบหน้าที่กันดีนัก พอทราบเพียงว่าถ้าขาด ต้นไม้จะแสดงความอ่อนแอ ฉะนั้นถ้าจะพูดให้กว้าง ๆ ก็คงต้องกล่าวว่า ธาตุนี้ไปช่วยส่งเสริมการทำงานต่าง ๆ ของต้นไม้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งการกินอาหาร การเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ ฯลฯ นอกจากนี้ โปแตสเซียมยังช่วยให้พืชแข็งแกร่งขึ้น ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่วิปริตได้ดีขึ้น เช่นทนแล้ง ทนแฉะ ทนหนาว ทนร้อนได้ดีขึ้น แต่ถ้าได้รับธาตุนี้มากเกินไปก็แคระแกรนเหมือนกัน
ที่กล่าวมานี้พอจะมองเห็นได้ว่า การให้ปุ๋ยกล้วยไม้นั้น จะต้องให้สัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่ให้ธาตุหนึ่งธาตุใดมีสัดส่วนสูงหรือต่ำเกินกว่าความต้องการของกล้วยไม้
อาหารกล้วยไม้