ดูแลมะม่วงให้ติดผล
พอย่างเข้าฤดูร้อน ผลไม้ยอดฮิตที่เป็นที่นิยมรับประทานก็คงไม่ใช่อื่นไกลนอกจาก “มะม่วง” มะม่วงนั้นก็มีหลายหลากพันธุ์และมีรสชาติที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ให้ความเอร็ดอร่อยเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะกินดิบ ๆ จิ้มน้ำปลาหวานหรือกินสุก ๆ กับข้าวเหนียวมะม่วง เพิ่มแคลอรี่ให้กับร่างกายดี แต่กว่าที่จะนำมากินได้ ผู้ปลูกเขาก็ต้องใช้วิธีดูแลให้มะม่วงออกดอกติดผลกันพอสมควร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เสียด้วยสิ
โดยปกติแล้วมะม่วงเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ในระยะที่กำลังเจริยเติบโตหรือก่อนจะให้ผลการให้น้ำและความชุ่มชื้นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ มะม่วงที่ปลูกใหม่ถ้าฝนไม่ตก ในระยะ 6 เดือนแรกจะต้องรดน้ำทุกสามวัน หลังจากนั้นให้รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง พอย่างเข้าปีที่ 2 ก็ให้น้ำอาทิตย์ละครั้ง ส่วนมะม่วงที่ให้ผลแล้วในระยะก่อนออกดอก 2-3 เดือน ถ้าดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่บ้างก็ไม่ควรให้น้ำ ทั้งนี้เพราะต้นมะม่วงจะมีการสะสมอาหารเพื่อพัฒนาตาดอก ถ้าให้น้ำมากไปก็จะพัฒนาเป็นใบไปหมด หลังจากมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ก็เริ่ม่ให้น้ำในปริมาณเล็กน้อยก่อนและให้ต่อไปอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ถ้าในช่วงดังกล่าวไม่มีการให้น้ำเลยและเป็นต้นไม้ที่ไม่มีการบำรุงมาก่อน ช่อดอกก็จะไม่ค่อยสมบูรณ์ แล้วถ้าเกิดมีฝนตกในช่วงนั้นก็จะทำให้ต้นมะม่วงดูดน้ำไปอย่างรวดเร็ว ดอกจะร่วงมาก ดอกจะบานเร็ว ละอองเกสรก็จะแห้งเร็ว การผสมเกสรก็จะเกิดขึ้นน้อย
การผสมเกสรของดอกมะม่วงส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเช้า ประมาณ 6.00 น.- 8.00 น. โดยช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแมลงเข้าตอมที่ช่อดอกมาก แมลงที่ช่วยในการผสมที่สำคัญก็คือ ผึ้ง รองลงมาก็แมลงวันหัวเขียว หากมีแมลงพวกนี้มากก็จะยิ่งมีการผสมเกสรมากด้วย ซึ่งผู้ปลูกก็สามารถใช้วิธีการเลี้ยงแมลงวันในสวนได้ ด้วยการนำเอาปุ๋ยคอกใหม่ ๆ หรือขี้หมูมากองไว้ในระยะที่มะม่วงเริ่มแทงดอก พอแมลงวันฟักเป็นตัวแก่ก็พอดีกับที่ดอกมะม่วงบานพอดี
ในช่วงที่มะม่วงกำลังแทงช่อนั้น จะพบว่ามีการระบาดของเพลี้ยจักจั่น ทั้งตัวอ่อนและแก่ ซึ่งจะคอยดูดน้ำเลี้ยงที่ช่อดอก ทำให้ดอกมะม่วงขาดน้ำเลี้ยง ไม่สามารถเจริญต่อไปได้ แล้วดอกก็จะร่วงไปในที่สุด ขณะเดียวกันเพลี้ยจักจั่นพวกนี้ก็จะขับถ่ายของเหลวที่มีรสหวานออกมา ของเหลวนี้เป็นอาหารที่ดี สำหรับเชื้อราดำในบรรยากาศ จึงทำให้เกิดการระบาดของเชื้อราดำควบคู่ไปด้วย เชื้อราจะขึ้นคลุมกิ่งใบและผลให้เห็นเป็นดวงดำ ๆ หรือเป็นแผ่นดำ ๆ โดยเฉพาะช่วงตอนเช้าที่มีหมอกลงจัด ราดำก็จะยิ่งระบาดมาก วิธีที่ชาวบ้านทั่วไปมักจะทำกันก็คือ การพ่นน้ำ ซึ่งโดยวิธีการที่เป็นหลักวิชาก็คือการใช้สารเคมี ประเภทดูดซึมฉีดพ่น เช่น โมโนโครโตฟอส หรือสารคาร์บาเมท ทุก 7-10 วัน แต่ต้องหยุดพ่นเมื่อดอกเริ่มบาน เมื่อติดผลแล้วจึงค่อยพ่นใหม่ เมื่อเพลี้ยจักจั่นหมดไป ราดำก็จะหมดไปเช่นกัน
ในระยะที่ติดผลอ่อนของมะม่วงจะเป็นช่วงที่สำคัญ ผู้ปลูกจะต้องเอาใจใส่ดูแลให้น้ำมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งควรให้ปุ๋ยบ้างในปริมาณที่พอควร โดยอาจจะให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 หรืออาหารเสริมทางใบพวกปุ๋ยน้ำสูตรที่มีไนโตรเจนสูงเพื่อป้องกันการหลุดร่วงของผล หรือจะเป็นปุ๋ยสูตร NAA ในอัตรา 10-20 หยดต่อน้ำหนึ่งปี๊บซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะช่วยให้ช่อมะม่วงเหนียวขึ้นและผลโตขึ้น ส่วนเรื่องโรคแมลงก็ต้องคอยระมัดระวังด้วย และควรหยุดการให้น้ำเมื่อผลมีอายุประมาณ 75 วัน ไปแล้ว จะทำให้ผลแก่เร็วขึ้น การเก็บผลมะม่วง ไม่ว่าเพื่อรับประทานดิบหรือสุกก็ตาม ควรเลือกเฉพาะผลที่แก่เต็มที่ โดยดูนวลมะม่วงที่ชาวสวนมักจะเรียกว่า “เข้าไคล” คือเมื่อมะม่วงแก่เต็มที่แล้วจะขึ้นนวล
เท่านี้ก็จะได้มะม่วงไว้รับประทานกันในบ้านโดยไม่ต้องไปซื้อหาหอบหิ้วให้ลำบาก อีกทั้งเป็นความภูมิใจเพราะได้ปลูกเลี้ยงมากับมือตัวเองอีกต่างหาก
เรียบเรียงจากข้อมูลของกองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
ดูแลให้มะม่วงติดผล, มะม่วง